เอมสไปร์ จับคู่ Startup-Corporate เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

  • ในขณะที่องค์กรใหญ่ต้องการมองหานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ฝั่ง Startup เองก็ต้องการพันธมิตรและสนับสนุนจากองค์กรใหญ่
  • ดังนั้น เอมสไปร์ จึงอาสามาเป็นกลไกตรงกลางในการจับคู่ความต้องการของทั้งสองฝ่ายให้มาเจอกัน และช่วยลดปัญหาการเจรจา การทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกอย่างราบรื่นไปได้ด้วยดี

ในขณะที่ Pain Point ขององค์กรใหญ่การจะได้มาซึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะด้วยมีโครงสร้างการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน ทำให้แต่ละโครงการต้องใช้เวลานาน ส่วน Pain Point ของ Startup คือ การต้องการเติบโต แต่การเติบโตโดยลำพังก็เป็นไปได้ยากลำบาก ด้วยการมองเห็น Pain Point ของทั้ง สองฝั่ง และจุดร่วมร่วมกันซึ่งถ้าสามารถจับมือเดินไปด้วยกันได้จะกลายเป็น Win-Win ทั้งสองฝ่าย อรพิมพ์ เหลืองอ่อน Manager Partner บริษัท เอมสไปร์ จำกัด จึงอาสามาเป็นกลไกตรงกลางในการจับคู่ความต้องการของทั้งสองฝ่ายให้มาเจอกัน

“โลกองค์กรใหญ่กับโลก Startup ต้องยอมรับว่ามีความซับซ้อน การจะจับคู่แล้วให้เขาสามารถทำงานร่วมกันได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มุมองค์กรอยากได้โมเดลธุรกิจใหม่ อยากได้นวัตกรรม อยากเชื่อมต่อกับ Startup เราจะทำกลยุทธ์ให้จนตกผลึกว่าจะทำแบบไหน หลังจากนั้นเราเฟ้นหา Startup มาให้ โดยที่ในกระบวนการเชื่อมต่อเราไม่ได้ปล่อยให้เขาคุยกันเอง เพราะบางทีภาษาและมุมมองของทั้งคู่แตกต่างกันมาก ต้องมีตัวกลางในการคุย อย่างปัญหาที่เจอระหว่างทางคือความไม่เปิด บางที Startup ก็กลัวในเรื่องความลับ เลยไม่บอกอะไรหมด ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำความเข้าใจกับองค์กรด้วยว่าจะไม่มีลักษณะว่าไปดูดไอเดียมาทำเอง หรือว่าลักษณะคุยๆ แล้วอยากจะขอเข้าไปซื้อเลย”

อรพิมพ์บอกต่อด้วยว่า ในขณะนี้มี Startup เข้าร่วมโปรแกรมนี้แล้ว 400 ทีมทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถ้านับรวม Startup ที่ติดต่อได้และรู้ว่าใครทำอะไรแบบไหนมีราว 2,000 ทีมในมือ และที่ผ่านมาเธอสามารถจับคู่เชื่อมต่อให้กับองค์กรและ Startup ได้ทำงานร่วมกันแล้วเกือบ 10 คู่

“จริงๆ ตอนทำมีกระบวนการการทำในแต่ละที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับโจทย์ขององค์กรใหญ่ว่าต้องการอะไร เช่น อยากให้เราช่วยหา Startup แนวนี้แต่เป็นความลับ เราก็ไปเฟ้นหา Startup ที่คิดว่าดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดที่จะเข้ามาเชื่อมต่อได้มาให้ หรือบางทีก็เปิดเผยเลยว่าต้องการหา Startup มาร่วมทำอะไรด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะหา Startup มาเป็น 100 ทีม แล้วค่อยสกรีนลงเหลือประมาณ 10 ทีม ใน 10 บริษัทนี้จะมีการทำงานร่วมกันกับเราระยะหนึ่งให้คุ้นเคยกัน หลังจากนั้นจะเลือกจริงๆ 3-4 ทีมที่คิดว่าจะได้เชื่อมจริงๆ แล้วออกมาเปิดตัวบางอย่างร่วมกัน”

ในวันนี้ถ้าถามว่านวัตกรรมประเภทไหนที่องค์กรใหญ่ต้องการ อรพิมพ์บอกว่า “องค์กรใหญ่จะมองหาเครื่องมือที่ทำให้ประสบการณ์ผู้บริโภคดีขึ้น นอกจากนี้ อะไรก็ตามที่ช่วยทำให้ต้นทุนประหยัดลง และสุดท้ายอยากได้โมเดลธุรกิจใหม่โดยอาจจะเป็นช่องทางใหม่ที่องค์กรทำไม่ได้ แต่ Startup เติบโตได้ในช่องทางใหม่เหล่านี้ โดยไม่ได้เลือกว่าจะเป็นนวัตกรรมไหน ไม่จำกัดเทคโนโลยี” อรพิมพ์กล่าวในตอนท้าย

https://www.smethailandclub.com/startups-4521-id.html