สัญญาณเตือน "สตาร์ทอัพ" ก่อนถึงทางตัน

หลายปีที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพผุดขึ้นมากมาย เรียกได้ว่าในทุกวันต้องมีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ สตาร์ทอัพกลายเป็นคำฮิตที่อยู่ในกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือโปรแกรมเมอร์ ที่สามารถสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ได้เอง

เมื่อเวลาเริ่มผ่านไปสตาร์ทอัพหน้าเก่าๆ ก็เริ่มหายไปจากตลาด มีเพียงไม่กี่รายที่เติบโต ได้รับเงินลงทุน และสามารถขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดได้ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่เหมือนจะหายไป จริงๆ แล้วไม่ได้ล้มหายตายจากไป แต่เปลี่ยนสินค้าและบริการไปเรื่อยๆ หรือบางทีก็หายไปซุ่มทำธุรกิจให้อยู่รอด ด้วยการดิ้นรนปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากที่เคยฝันใหญ่ ก็ฝันเล็กลง เปลี่ยนจากสตาร์ทอัพกลายเป็นรับงานตามที่มีผู้จ้าง เพื่อหารายได้เลี้ยงทีมงานให้อยู่รอด หรือไม่ก็แยกทีม ต่างคนต่างไปในวิถีทางของตัวเอง

เหตุใดสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จึงเดินไปถึงจุดนี้ แทนที่จะกลายเป็นสตาร์ทอัพใหญ่โตที่สามารถขยายธุรกิจ (scale) ไปต่างประเทศ สร้างมูลค่าของบริษัทให้ไปถึงจุดที่เรียกว่ามหาศาลได้

สัญญาณเตือนก่อนที่จะเดินทางไปถึงจุดนี้ย่อมมีให้เห็นอยู่ เพียงแต่สตาร์ทอัพอาจไม่มีโอกาสที่จะหยุดทบทวน และไม่เคยตรวจเช็คสภาพความแข็งแรงของตัวเอง ยังดึงดันที่จะทำแบบเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ ด้วยความหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม!

การทำงานของสตาร์ทอัพย่อมมีจุดที่ควรตรวจเช็คเหมือนการตรวจเช็คระยะของรถยนต์ เพื่อมั่นใจว่าเครื่องไม่รวน และยังวิ่งต่อไปได้ไม่สะดุด จุดสำคัญที่ควรตรวจเช็ค คือ

จุดมุ่งหมายร่วมกัน

บ่อยครั้งที่การลงรายละเอียดการทำงานทำให้เกิดความสับสนในจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ยังไม่สามารถหาปลายทางได้ว่าจะเดินไปทางไหน ทำให้แต่ละคนในทีมมีภาพในจินตนาการของตัวเอง

จุดสำคัญที่สตาร์ทอัพมองข้าม คือการเอาภาพในจินตนาการของมาแชร์กันเพื่อหาจุดร่วมของจุดมุ่งหมาย เมื่อไหร่ก็ตามที่สมาชิกในทีมเริ่มเห็นจุดหมายปลายทางไม่ตรงกัน นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเดินทางไปสู่ทางตันและความขัดแย้ง

เวลา และความทุ่มเท (มักมาด้วยกัน)

สตาร์ทอัพหลายทีมที่ล้มหายไปจากตลาด ทำสตาร์ทอัพเป็นงานอดิเรก คือ ทุกคนมีงานหลัก ไม่มีใครมีเวลาพอที่จะทุ่มเทให้สิ่งที่ทำอยู่ แต่ทำสตาร์ทอัพเผื่อๆ ว่า ธุรกิจนั้นอาจจะโตได้ จึงค่อยลาออกจากงานประจำ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่มีอยู่จริง ไม่มีธุรกิจไหนที่คนทำไม่ทุ่มเทแล้วจะโตได้!

ในช่วงแรกต้องมีอย่างน้อย 2 คนในทีม ที่มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งนั้นจริงๆ และเป็นกำลังหลักที่จะพาทีมไปข้างหน้า แต่เมื่อเริ่มทำธุรกิจและขายอย่างจริงจัง จำนวนคนที่ทุ่มเทต้องมีมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่เช่นนั้นจะประสบกับภาวะที่เรียกว่า “ซอมบี้” คือไม่โต แต่ก็ไม่ตาย เพราะทุกคนมีงานหลักพอที่จะเลี้ยงชีพได้ จึงทำสตาร์ทอัพกันแบบ อืดๆ ว่างก็ทำ ไม่ว่างก็ไม่ทำ ไม่ต้องรีบวิ่งเหมือนทีมอื่นๆ ที่ไม่มีรายได้ใดๆ

ทีมเหล่านั้นมีทางเลือกทางเดียวคือต้องทำให้ธุรกิจโต เพื่อหารายได้และเงินลงทุนเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ หากวันใดที่รู้สึกว่าเริ่มเดินช้า ต้องเดินให้เร็วกว่านี้ แต่ไม่มีใครที่มีเวลาพอจะมาทำ ให้มันไปเร็วกว่านี้ได้ นั่นคือสัญญาณเตือนของการเป็นซอมบี้ คือ ไม่ตาย แต่ก็ไม่โตไปไหนเช่นกัน

ความรวดเร็ว

ในโลกของสตาร์ทอัพมีทีมเกิดใหม่ทุกวัน ไอเดียที่เรามีคนอื่นก็มีได้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องซ้ำๆ กัน เกิดขึ้นมากมายในตลาด

ความรวดเร็วในการเติบโตเพื่อตอบโจทย์และสร้างผู้ใช้งานภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นจุดสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการหาเงินลงทุน นักลงทุนต้องการการเติบโตที่รวดเร็ว ได้ผลตอบแทนที่ดีภายในระยะเวลาไม่นาน

หากสตาร์ทอัพใช้เวลาหลายปี ยังไม่สามารถสร้างผู้ใช้งานแบบก้าวกระโดดได้ ธุรกิจนั้นก็ดูจะไม่มีแรงจูงใจพอที่นักลงทุนจะควักเงินลงทุนให้ ทำให้ต้องอาศัยรายได้จากการขายเพื่อมาเลี้ยงธุรกิจ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่ภาวะซอมบี้อีกแบบหนึ่ง เพราะรายได้จากการขายเพียงอย่างเดียวมักไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจขยายแบบก้าวกระโดดได้ คู่แข่งที่สามารถเติบโตได้เร็วกว่าจะเติบโตแซงหน้า ดึงผู้ใช้งานไปในที่สุด

เข้าถึงและเข้าใจผู้ใช้งาน

สตาร์ทอัพบางทีมไม่เคยเข้าใกล้ผู้ใช้งาน ไม่เคยสัมภาษณ์ว่าผู้ใช้ชอบหรือไม่ชอบอะไร เหตุใดจึงเลิกใช้และหันไปหาคู่แข่ง เอาแต่มุ่งมั่นทำในสิ่งที่คิดเอาเองว่าดีที่สุด ใหม่ที่สุด หรือบางทีอาจจะอิงวิชาการมากเกินไป ต้องทำเซอร์เวย์  ต้องวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่วิถีของสตาร์ทอัพในช่วงแรก

วิธีการที่ดีที่สุดในการเข้าใจผู้ใช้งานในช่วงแรก ก็คือการคุยกับผู้ใช้ ทำตัวเป็นผู้ใช้งานเองในบางครั้ง ไม่จำเป็นต้องมีทฤษฎีอะไรมาก แต่พยายามทำความเข้าใจผู้ใช้ให้มากที่สุด และวิธีการที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ดี่ที่สุดก็คือการพูดคุยกับผู้ใช้งาน

จุดที่สตาร์ทอัพต้องเริ่มหันมาทบทวน และเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเดินไปสู่ภาวะที่ไปต่อไม่ได้ก็คือ แพลตฟอร์มมีคนดาวน์โหลดแต่ไม่ใช้งาน หรือ มีคนใช้งานแต่มีอัตราการใช้ซ้ำต่ำ เลิกใช้เยอะกว่าใช้ต่อ หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าสู่จุดที่สายเกินแก้ เพราะจะต้องลงทุนอีกมหาศาลกว่าจะดึงลูกค้าให้กลับมาใช้งานได้ และเดินทางเข้าสู่ภาวะซอมบี้ในที่สุด

นี่เป็นจุดหลักๆ ที่ สตาร์ทอัพควรต้องตรวจเช็คอยู่เป็นระยะ อย่ามัวแต่วิ่งหาเงินลงทุน หรือจมอยู่กับการแก้ปัญหารายวัน จนลืมมองภาพใหญ่ และมองอนาคต

สำคัญที่สุดคือต้องไม่ลืมว่าวันแรกที่ก้าวเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพต้องการแก้ปัญหาอะไร ทำสตาร์ทอัพไปเพื่ออะไร และทำอย่างไรจะก้าวไปถึงจุดหมายที่คิดไว้ให้ได้

การหยุดเพื่อทบทวนและเตือนตัวเองอยู่เป็นระยะ จะช่วยให้เดินทางอย่างมีจุดมุ่งหมายไม่หลงไปกับวังวนของความท้าทายต่างๆ จนเดินเข้าสู่ทางตันโดยไม่ทันตั้งตัว!
https://www.thebangkokinsight.com/159238/